วันหนึ่งมีคณะนักศึกษาคณะศิลปกรรมจาก “มหาวิทยาลัยกรุงเทพ” ได้เข้ามาดูงานและเรียนรู้ระบบการพิมพ์ เลตเตอร์เพรส (Letterpress) กับทาง Press A Card ซึ่งทางทีมงานก็ได้บรรยายไปตามขั้นตอนและกระบวนการที่เคยทำมาในทุกๆ การบรรยาย
แต่หารู้ไม่ว่าการบรรยายที่ Press A Card ในครั้งนั้นได้จุดประกายให้นักศึกษาคนหนึ่งหลงใหลระบบการพิมพ์แบบโบราณนี้ จนไปต่อยอดเป็นงาน “ศิลปนิพนธ์” ด้วยการสร้างสารคดีที่เกี่ยวกับการพิมพ์ด้วยระบบ เลตเตอร์เพรส (Letterpress) ในประเทศไทย ในมุมมองของคนรุ่นใหม่ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจคนรุ่นใหม่ ให้หันมาสนใจ เกิดความรู้สึกที่อยากจะทำงาน หรือสืบทอด อนุรักษ์ และใช้ระบบพิมพ์นี้ในการออกแบบใหม่ๆ ต่อไปในอนาคต
“ไอซ์” หรือ นายนพดล ขำพวง นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะศิลปกรรม ภาควิชาออกแบบนิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้เข้ามาที่ Press A Card อีกครั้งเพื่อขอข้อมูล และมีคำถามมากมาย ว่า “ทำไมคนรุ่นใหม่ไม่รู้จักระบบการพิมพ์เลตเตอร์เพรส” “ทำไมระบบการพิมพ์เลตเตอร์เพรสถึงหายไป” ทำไม…ทำไม…ฯลฯ
จากคำถามเหล่านี้ ไอซ์ได้กลับไปตกผลึกทางความคิด ทำให้เกิดเป็นสารคดีศิลปนิพนธ์ เรื่อง Breath of “Letterpress” ลมหายใจของเลตเตอร์เพรส ภายใต้แนวความคิด “While we breath, we hope.” ตราบยังมีลมหายใจ… ยังมีความหวัง และเป็นจุดเริ่มต้นให้ ไอซ์ออกเดินทางตามหาโรงพิมพ์เก่าๆ โรงหล่อตัวตะกั่วเก่าๆ พูดคุยกับเจ้าของโรงพิมพ์ ช่างพิมพ์ และบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบการพิมพ์เลตเตอร์เพรส (Letterpress) ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในประเทศไทยในช่วงเวลานี้ ทั้งคนรุ่นครู และคนรุ่นปัจจุบัน เพื่อถ่ายทำเป็นสารคดี เก็บข้อมูลอันหาค่ามิได้นี้ พร้อมที่จะส่งต่อให้กับเด็กรุ่นหลังๆ ต่อไป
เนื้อหาในสารคดีนั้นก็จะพูดถึงอดีตของการพิมพ์ในระบบเลตเตอร์เพรส (Letterpress) พูดคุยกับโรงพิมพ์เลตเตอร์เพรส ในตำนานหลายๆ โรงพิมพ์ พูดคุยกับช่างพิมพ์ และนักออกแบบรุ่นใหม่ที่หลงใหลในระบบการพิมพ์เลตเตอร์เพรสนี้ ซึ่งก็ทำให้เห็นว่าการพิมพ์ในระบบนี้นั้นพอที่จะมีคนทำอยู่บ้างทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ ยังไม่ได้หายไปจากประเทศไทยไปเสียทีเดียว
เพราะตราบใดที่ยังมีคนพิมพ์งานเลตเตอร์เพรส (Letterpress) อยู่ ก็เหมือนกับว่าการพิมพ์ในระบบนี้ยังมี “ลมหายใจ” และตราบใดที่ยังมีลมหายใจ ก็ยังมีความหวังที่ระบบการพิมพ์นี้จะยังคงอยู่ต่อ หรือเติบโตขึ้นอีกครั้งในประเทศไทย
ท้ายที่สุดนี้ทีมงาน Press A Card ก็ขอเชิญชมนิทรรศการศิลปนิพนธ์ออนไลน์ของนักศึกษา คณะศิลปกรรม ภาควิชาออกแบบนิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้ที่ https://www.facebook.com/DESIGNOEXHIBITION/