Press: Press A Card in “Bann Bann (#3)” pocket book

Pocket book: Bann Bann (#3)

Topic: Press A Card

Two building of printing shop named “Niwatpress”, it is the “HOME” of ZOOM Nirut Krusuansombat – the founder of Press A Card.

********************

พ็อกเก็ตบุ๊ค: ​บ้าน บ้าน เล่มที่ 3

หัวข้อ: Press A Card

โรงพิมพ์ขนาดสองห้องแถวที่ชื่อว่า นิวัติการพิมพ์ จะนับว่าเป็น “บ้าน” ของคุณซูม – นิรุติ กรุสวนสมบัติผู้ก่อตั้ง Press A Card คงไม่ผิดนัก

********************

เทคนิคการพิมพ์ที่มีเอกลักษณ์ที่ทำให้เกิดผิวสัมผัสบนเนื้อกระดาษอันเนื่องมาจากแม่พิมพ์นั้นนูน มักพิมพ์ด้วยสีเพียงไม่กี่สีเป็นลวดลายกราฟิก และสีที่พิมพ์บนกระดาษอาจไม่ถึงกับเรียบเนียนนัก หรือที่เรียกว่า เลตเตอร์เพรส (Letterpress) นี้ ฉันแอบชอบ และเคยได้ยินชื่อมาหลายปี แต่ไม่เคยรู้จักกระบวนการพิมพ์ หรือแม้แต่ได้สัมผัสเครื่องพิมพ์ชนิดนี้สักครั้ง จนเมื่อไม่นานมานี้ชื่อของ Press A Card ได้เปิดโลกของการพิมพ์เล็ตเตอร์เพรสให้ฉันได้รู้จักมากขึ้น ในบล็อกของ Press A Card นอกจากจะมีตัวอย่างงานสวยๆ ที่พิมพ์ดด้วยเทคนิคนี้ ยังมีความรู้เกี่ยวกับเล็ตเตอร์เพรสอยู่ด้วย

การเกิดขึ้นของ Press A Card ช่วยปลุกกระแสให้เทคนิคการพิมพ์ที่มีอายุหลายร้อยปีกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งในบ้านเรา การได้มาคุยกับคนทำและได้เห็นวิธีทำคงช่วยให้เราค้นพบคำตอบว่างานที่ทำด้วยเครื่องจักรแต่มีส่วนผสมของงานฝีมือที่ต้องอาศัยความชำนาญและความละเอียดลออในการพิมพ์เป็นอย่างมากนี้ เป็นเสน่ห์ให้คนในโลกดิจิทัลหันกลับมามองได้อย่างไร และเทคนิคที่สวนทางกับการเติบโตของเทคโนโลยีนี้ คุณค่าของมันอยู่ไหน

โรงพิมพ์ขนาดสองห้องแถวที่ชื่อว่า นิวัติการพิมพ์ จะนับว่าเป็น “บ้าน” ของคุณซูม – นิรุติ กรุสวนสมบัติ ผู้ก่อตั้ง Press A Card คงไม่ผิดนัก เพราะในวัยเด็กเขามักมาวิ่งเล่นช่วยงานเล็กๆ น้อยๆ เท่าที่เด็กจะทำได้ในโรงพิมพ์ของคุณป้าเสมอ และช่วงนั้นของชีวิตก็อาจส่งผลให้เขาเลือกทางเดินดังเช่นทุกวันนี้ หลังจากเรียนจบด้านการออกแบบนิเทศศิลป์ที่มหาวิทยาลัยรังสิต คุณซูมไปเรียนต่อและทำงานด้านการออกแบบที่ประเทศสหรัฐอเมริกาอยู่พักหนึ่ง โลกเปิดกว้างที่ผสมผสานเทคโนโลยีทันสมัยสุดๆ กับความหลงใหลในเทคนิคโบราณ ทำให้เขาคิดถึงเครื่องพิมพ์เก่าแก่ที่คุ้นเคย เขาจึงกลับมาทดลองทำการ์ดใบเล็กๆ ด้วยเทคนิคเก่าแก่จากเครื่องพิมพ์เก่าแก่ที่เรียกว่าเล็ตเตอร์เพรสแล้วพบว่า เขาหลงเสน่ห์มันอย่างจริงจังเสียแล้ว

“เราเป็นนักออกแบบ ชอบหาเทคนิคใหม่ๆ มาใช้กับงานของเราอยู่แล้ว และก็อาจจะชอบอะไรไม่เหมือนคนอื่น ส่วนลึกอาจจะชอบอะไรที่เป็นยุคเรโทรหรือวินเทจ อย่างพวกงานกราฟิกในสมัยรัชกาลที่ 5 รู้สึกว่ามันเป็นยุคที่ผสมไทยกับตะวันตกได้อย่างลงตัว การพิมพ์เล็ตเตอร์เพรสมันสามารถตอบโจทย์ในสิ่งที่เราชอบ”

จุดเริ่มต้นอย่างจริงจังของ Press A Card เกิดขึ้นเมื่อการ์ดแต่งงานพิมพ์ลายนกคู่เกาะบนกิ่งไม้สีชมพู – เขียวของเขาและคุณอุ้ม – ภรรยา ที่พิมพ์ด้วยเครื่อง letterpress ถูกแจกจ่ายไปยังเพื่อนฝูง ความประทับใจของผู้ได้รับการ์ดใบนั้นพัฒนาต่อเนื่องมาเป็นงานพิมพ์การ์ดที่มีเข้ามาไม่ขาด แม้ว่าคุณซูมจะยืนยันว่านี่เป็นเพียงงานอดิเรกที่เขาทำในเวลาที่ว่างจากงานประจำ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่างานเล็กๆ งานนี้ทำให้เขาเป็นที่รู้จักมากขึ้นไปอีก ในฐานะผู้ที่ทำให้คนทั่วๆ ไปมีโอกาสได้สัมผัสงานพิมพ์เล็ตเตอร์เพรสแบบไม่ไกลเกินเอื้อม

“ยุคนี้เป็นยุคที่คอมพิวเตอร์พัฒนามาไกลมาก คนที่โหยหางานคราฟต์ก็เริ่มกลับมาหาเทคนิคเก่าๆ แล้วการสื่อสารฉับไวกว้างไกล ใครทำอะไรอยู่ส่วนไหนของโลกก็ได้รู้ได้เห็น งานพิมพ์เล็ตเตอร์เพรสเป็นการรวมการออกแบบกับเทคนิคการพิมพ์ เสน่ห์ของงานอยู่ที่การสัมผัส มันสื่อถึงความเก่า รู้สึกถึงอะไรที่ไม่ทันสมัย ตั้งแต่หมึก สีที่เราเลือกใช้ กระดาษที่เลือกใช้ อาจเป็นเพราะเทคนิคนี้มันหายไปนาน ในบ้านเราไม่มีใครเคยทำเป็นการ์ด คนรุ่นใหม่ได้เห็นก็ตื่นเต้น ในยุคหนึ่งเครื่องพิมพ์เล็ตเตอร์เพรส เป็นเทคโนโลยีการพิมพ์ที่ทันสมัยที่สุด แต่ทุกขั้นตอนช่างต้องใช้พลัง สมอง และฝีมืออย่างมาก ถึงจะใช้เครื่องจักรแต่ก็เรียกได้ว่าเป็นงานทำมือ 99 เปอร์เซ็นต์ ถ้าได้มาทำเองจะเห็นว่าต้องใช้ความละเอียดลออไม่ต่างจากการทำงานคราฟต์เลย”

แม้เทคโนโลยีจะช่วยให้การออกแบบง่ายขึ้น เพราะคุณซูมออกแบบในคอมพิวเตอร์ แล้วส่งไปทำเป็นบล็อกด้วยวิธีกัดโลหะ แต่ในขั้นตอนการพิมพ์ ลองนึกภาพตาม เริ่มตั้งแต่สีที่ใช้พิมพ์ต้องเกิดจากการผสมด้วยสายตาและความชำนาญล้วนๆ (ที่เรียกว่าสีตายหรือ Spot color) หนึ่งบล้อกพิมพ์หนึ่งครั้งได้หนึ่งสี และต้องทิ้งให้แห้งสีละหนึ่งวัน ถ้าการ์ดใบหนึ่งมีสองสี ก็ต้องใช้สองบล็อก พิมพ์สองครั้ง และต้องรอสีแรกแห้งก่อนแล้วจึงจะพิมพ์สีที่สองได้ นอกจากจะเป็นงานที่ใช้เวลามาก การพิมพ์สองสียังต้องตั้งบล็อกให้แม่นเพื่อไม่ให้สีเหลื่อมกัน การป้อนกระดาษต้องทำทีละใบเพื่อให้เกิดความผิดพลาดน้อยที่สุด เป็นงานที่ต้องอาศัยความชำนาญและเอาใจใส่อย่างแท้จริง

“ความสุขของการทำงานตรงนี้คือได้เห็นลูกค้าที่ชอบงานคราฟต์ ได้มาซึมซับวิธีการพิมพ์ ยอมรับข้อจำกัด ยอมปรับงานที่ออกแบบมาแล้วเพื่อให้พิมพ์เล็ตเตอร์เพรสได้ ทำให้การพิมพ์ระบบนี้ไม่ตาย โดยส่วนตัวผมก็สนุกที่ได้ใช้ทักษะหลายๆ อย่างที่นอกเหนือจากงานประจำ เช่น ได้เขียนรูป ได้ออกแบบตัวอักษร ที่สำคัญคือ ช่างที่พิมพ์เครื่องแบบนี้เป็นก็อายุมากๆ กันแล้ว ถ้าหมดรุ่นนี้ก็คงไม่มีใครทำต่อ เป็นอีกปัจจัยที่ผลักดันให้ผมลองทำในเมื่อมันอยู่ใกล้ตัวแค่นี้ และตอนนี้ผมก็เป็นช่างพิมพ์แล้ว”

(ดูรายละเอียดและผลงานที่ผ่านมาของ Press A Card ได้ที่ www.pressacard.com)

คุณซูมพาเรามาที่ห้องสำหรับเก็บบล็อกของงานพิมพ์ทั้งหมด แล้วเปรียบเทียบให้เราเห็นภาพง่ายๆ ว่า ถ้าห้องนี้คือคอมพิวเตอร์หนึ่งเครื่อง ตู้ล้นชักไม้สำหรับเก็บบล็อกก็คือฮาร์ดดิสก์ และลิ้นชักแต่ละชั้นก็คือแต่ละโฟลเดอร์ที่ใช้เก็บข้อมูล บล้อกหนึ่งอันเปรียบเทียบได้กับหนึ่งอิลลัสเตรเตอร์ไฟล์ บนโต๊ะทำงานของช่างเรียงพิมพ์คือเดสก์ท็อป ไม้คีบตัวตะกั่วคือเคอร์เซอร์หรือหัวลูกศรในโปรแกรม อุปกรณ์บนโต๊ะคือทูลส์ต่างๆ ส่วนลิ้นชักเก็บตัวตะกั่วหนึ่งชั้นก็เท่ากับหนึ่งรูปแบบตัวอักษรที่เราเลือกใช้ การเปรียบเทียบนี้ทำให้เราเห็นภาพชัดว่าสมัยก่อนนั้นกว่าจะเรียงตัวอักษรออกมาให้ได้ช่องไฟที่สวยงามต้องใช้ความชำนาญ ทุกขั้นตอนต้องใช้มือและใช้เวลานานมาก คุณซูมจึงอยากจะฝากเตือนนักออกแบบปัจจุบันว่า แม้จะมีเครื่องมือที่ทันสมัยและใช้งานง่าย ก็ไม่ควรละเลยกับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ แม้แค่ระยะห่างระหว่างตัวอักษรก็ตาม